ระบบมาตรวิทยาสากล[1] ของ มาตรวิทยา

การวัดขนาดและปริมาณต่างๆ เป็นกิจกรรมที่สังคมมนุษย์กระทำกันมาตั้งแต่เกิดสังคมเมืองขึ้น ในอดีตหน่วยวัดที่กำหนดขึ้นจะใช้กันภายในกลุ่มเดียวกัน ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยน สังคมมนุษย์จึงต้องการหน่วยวัดขนาดและปริมาณที่ทุกๆ คนยอมรับวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2418 (ค.ศ. 1875) รัฐบาล 17 ประเทศทั่วโลกที่เป็นสมาชิกก่อตั้ง The Metre Convention จึงได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาเมตริก ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และประกาศให้วันที่ 20 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันมาตรวิทยาโลก

สาระสำคัญของสนธิสัญญาเมตริกมีรายละเอียดดังนี้

  • ให้จัดตั้งสำนักงานชั่ง ตวง วัดระหว่างประเทศ (BIPM) เพื่อกำหนดหน่วยวัดสากล
  • ให้จัดตั้งคณะกรรมการมาตรวิทยาสากล (CIPM)
  • ให้มีการประชุมนานาชาติด้านมาตรวิทยาทุกๆ 4 ปี

สำนักงานชั่ง ตวง วัดระหว่างประเทศ (BIPM)

สำนักงานชั่ง ตวง วัดระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International Bureau of Weights and Measures, ฝรั่งเศส: Bureau International des Poids et Mesures) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาเมตริก สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส โดยใช้ปาวิลลอง เดอ เบรตุย (Pavillon de Breteuil) เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ มีจุดมุ่งหมายให้ทั่วโลกมีการวัดไปในทางเดียวกัน สถาปนาหน่วยวัดพื้นฐาน เก็บรักษาต้นแบบหน่วยวัดสากลและการสอบกลับได้ไปยังหน่วยเอสไอ

ปัจจุบัน BIPM มีสมาชิกทั้งหมด 80 ประเทศ

คณะกรรมการมาตรวิทยาสากล (CIPM)

คณะกรรมการมาตรวิทยาสากล (อังกฤษ: International Committee for Weights and Measures, ฝรั่งเศส: Comité International des Poids et Mesures) ประกอบไปด้วยคณะกรรมการ 18 คน เป็นผู้แทนจากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติของประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาเมตริก มีหน้าที่ในการส่งเสริมหน่วยวัดสากลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จัดการประชุมปีละ 1 ครั้ง ณ BIPM

การประชุมมาตรวิทยาระหว่างประเทศ (CGPM)

การประชุมมาตรวิทยาระหว่างประเทศ (อังกฤษ: General Conference on Weights and Measures, ฝรั่งเศส: Conférence Générale des Poids et Mesures) เป็นการประชุมเพื่อรับฟังรายงานผลความสำเร็จของ CIPM โดยอภิปรายและตรวจสอบเพื่อสร้างความมั่นใจในการเผยแพร่และพัฒนาหน่วยวัดสากล จนถึงรับรองการกำหนดมาตรวิทยาพื้นฐานใหม่ๆ รวมถึงควบคุมดูแล BIPM จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี ณ กรุงปารีส

องค์การระหว่างประเทศด้านการชั่งตวงวัดทางกฎหมาย (OIML)[2]

องค์การระหว่างประเทศด้านการชั่งตวงวัดทางกฎหมาย (อังกฤษ: International Organization of Legal Metrology, ฝรั่งเศส: Organisation Internationale de Métrologie Légale) เป็นองค์การสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกถาวร (Member States) ซึ่งเป็นประเทศที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านเทคนิค และสมาชิกสมทบ (Corresponding Members) ซึ่งเป็นประเทศที่มีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ เท่านั้น [3] ได้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1955 เพื่อที่จะส่งเสริมให้การชั่งตวงวัดทางกฎหมาย (legal metrology) ของโลกให้สอดคล้องกัน ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงบัดนี้ OIML ได้จัดทำเอกสารเพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการจัดทำโครงสร้างองค์กรที่กำกับงานชั่งตวงวัดทางกฎหมายภายในประเทศสมาชิก และเอกสารที่ใช้เป็นแนวทางในการออกกฎหมายและกฎระเบียบ[4]เพื่อการกำกับดูแลงานชั่งตวงวัดทางกฎหมายภายในประเทศ

     สำนักชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นสมาชิกถาวร (Member State)ในนามประเทศไทย[5]